5 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการลงทุนอย่างยั่งยืน
การลงทุนอย่างยั่งยืนเป็นเทรนด์การลงทุนในโลกยุคใหม่ ซึ่งให้ความสำคัญกับการพิจารณาธุรกิจที่จะลงทุนแบบรอบด้าน เพราะธุรกิจทุกวันนี้ได้รับผลกระทบจากสารพัดปัญหาและปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในการทำธุรกิจ การลงทุนจึงควรพิจารณาเรื่องการบริหารความเสี่ยง (และโอกาส) ในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความสามารถในการแข่งขันและผลประกอบการทางการเงิน ความสามารถในการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อปรับตัวให้อยู่รอดและเติบโตได้ ความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการกำกับดูแลกิจการและได้รับการยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ (ไม่ใช่เพียงแค่ในกลุ่มผู้ถือหุ้นและลูกค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพนักงาน คู่ค้า และผู้คนในสังคมอีกด้วย) จึงเรียกได้ว่า เป็นการลงทุนที่มองรอบด้าน คือ คำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ควบคู่ไปกับผลการดำเนินงานทางการเงิน การลงทุนอย่างยั่งยืนจึงเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน แต่ก็ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปในหลายเรื่อง เช่น ลงทุนยาก ให้ผลตอบแทนต่ำ เหมาะกับนักลงทุนโลกสวย ฯลฯ ซึ่งวันนี้เราจะมาไขความเข้าใจผิดกัน!!
- เป็นแค่เทรนด์ระยะสั้น
การลงทุนอย่างยั่งยืนไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ระยะสั้น แต่ได้รับความสนใจมานานหลายสิบปีแล้ว กองทุนรวม Pax World Fund ที่ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมและนับเป็นกองทุนด้านความยั่งยืนแห่งแรกของโลกมีมาตั้งแต่ปี 1972 แต่จุดเปลี่ยนสำคัญ คือ ในปี 2006 นักลงทุนสถาบันจากทั่วโลกได้ร่วมกันลงนามรับ Principles for Responsible Investment (PRI) ซึ่งเป็นหลักการที่มุ่งเน้นการลงทุนอย่างรับผิดชอบที่ริเริ่มโดยหน่วยงานในกลุ่มองค์การสหประชาชาติ ในปี 2020 มีนักลงทุนสถาบันที่ไปลงนามและยึดถือปฏิบัติตามหลักการ PRI แล้วกว่า 3,000 แห่ง คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมกันกว่า 100 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับปี 2015 ที่มีนักลงทุนกลุ่มนี้ประมาณ 1,500 แห่งและมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมกันกว่า 50 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว!
ทุกวันนี้ เม็ดเงินลงทุนในตลาดทุนทั่วโลกยังไหลเข้ากองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Funds) อย่างต่อเนื่อง ณ สิ้นปี 2020 ขนาดมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมประเภทนี้เติบโตถึง 1.652 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 29% จากไตรมาสที่ 3 ของปีเดียวกัน
เทรนด์การลงทุนอย่างยั่งยืนดูไม่มีทีท่าจะแผ่วลง แต่จะมีบทบาทมากขึ้นอีก ด้วยความสนใจของนักลงทุนรุ่นใหม่ ในปี 2019 The Morgan Stanley Institute for Sustainable Investing ได้สำรวจนักลงทุนกลุ่ม Millennials ในสหรัฐอเมริกา พบว่า 95% ให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างยั่งยืน ขณะที่ในปี 2020 DeVere Group สำรวจนักลงทุนกลุ่ม Millennials ทั่วโลกจำนวน 1,125 คน พบว่า 77% ให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างยั่งยืนเช่นกัน ซึ่งต้องยอมรับว่านักลงทุนรุ่นใหม่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การลงทุนอย่างยั่งยืนเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต
- ให้ผลตอบแทนต่ำ
บางคนอาจเข้าใจไปว่าการลงทุนอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องของนักลงทุนโลกสวย ลงทุนแล้วต้องได้ผลตอบแทนต่ำ แต่เมื่อดูจากสถิติ จะพบว่าการลงทุนอย่างยั่งยืนอาจช่วยเพิ่มโอกาสด้านผลตอบแทนในระยะยาว และลดความเสี่ยงและความผันผวนจากการลงทุนได้
นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบดัชนี MSCI ACWI และ MSCI ACWI ESG Leaders ในเชิง Standard Deviation และ Sharpe Ratio จะเห็นว่า ดัชนีที่คำนึงถึงความยั่งยืนมีความเสี่ยงต่ำกว่าและมีผล
ตอบแทนสูงกว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับดัชนีคู่เทียบที่ไม่ได้คำนึงถึงความยั่งยืน (ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว)
หรือหากดูจากสถิติของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กราฟแสดงข้อมูลเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของดัชนี SET และ SET100 ที่ไม่ได้เน้นเรื่องความยั่งยืน กับดัชนี SETTHSI ที่เน้นคัดหุ้นที่คำนึงถึงความยั่งยืน พบว่าดัชนี SETTHSI ก็มีทิศทางการเคลื่อนไหวเหนือ SET และ SET100 เล็กน้อย
- มีทางเลือกในการลงทุนจำกัด
จริง ๆ แล้ว มีผลิตภัณฑ์หลากหลายพร้อมให้นักลงทุนเลือกลงทุนอย่างยั่งยืนได้ ไม่ว่าจะเป็น
หุ้น ESG เช่น รายชื่อหุ้นยั่งยืนใน Thailand Sustainability Investment (THSI)
ดัชนี ESG เช่น ดัชนี SETTHSI, DJSI, MSCI ESG, FTSE4Good
กองทุนรวมหุ้น ESG และกองทุนรวมหุ้น CG
ตราสารหนี้ ESG เช่น ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond), ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond), และตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) เป็นต้น
- ซับซ้อนและลงทุนยาก
การลงทุนอย่างยั่งยืนไม่ได้ซับซ้อนและลงทุนยากอย่างที่หลายคนเข้าใจ ทุกวันนี้มีข้อมูลจากหลากหลายแหล่งที่นักลงทุนสามารถนำมาใช้ประกอบการวิเคราะห์และการตัดสินใจลงทุนได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากบริษัทจดทะเบียนเอง ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนเพิ่มขึ้นมากตามความต้องการของผู้ใช้ข้อมูลและกฎเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแล บริษัทจดทะเบียนไทยเองก็ต้องเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนมีข้อมูลในการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น
- เหมาะกับนักลงทุนเฉพาะกลุ่ม
การลงทุนอย่างยืนไม่ได้เหมาะเฉพาะกับนักลงทุนคนรุ่นใหม่กลุ่ม Millennials เท่านั้น แต่นักลงทุนกลุ่มอื่น ๆ ก็ให้ความสนใจมากเช่นกัน The Great British Retirement Survey 2020 พบว่า 50% ของนักลงทุนวัยเกษียณในอังกฤษ ให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างยั่งยืน โดย 19% ได้ลงทุนอยู่แล้ว และอีก 31% สนใจจะเริ่มลงทุนอย่างยั่งยืนมากขึ้น ในขณะที่ผลสำรวจของ Bank of America พบว่า นักลงทุนกลุ่ม Generation X ก็สนใจลงทุนอย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ จากการศึกษาของ KPMG พบว่า นักลงทุนกลุ่มหลักที่มุ่งเน้นลงทุนอย่างยั่งยืนคือนักลงทุนสถาบัน ซึ่งสอดคล้องกันกับทิศทางในบ้านเราที่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และนักลงทุนสถาบันกว่า 30 แห่ง (ทั้งที่เป็นบริษัทประกันและบริษัทจัดการลงทุน) ได้ประกาศความร่วมมือที่จะลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบอีกด้วย นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน